Schedule: เปิดบริการ 24 ชั่วโมง
076 298 298, 076 609 050
ความรู้เกี่ยวกับสุภภาพ

เรื่อง "โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)"

โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ มีการระบาดเป็นครั้งคราวเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โรคนี้มักมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนได้มากกว่า

สาเหตุ – เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ซึ่งอยู่ในน้ำมูกและเสมหะของผู้ป่วย ระยะฟักตัว ประมาณ 1-3 วัน

การติดต่อ – การติดต่อเกิดขึ้นได้ง่าย ระหว่างผู้ใกล้ชิดที่อยู่ในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น โรงมหรสพ ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก รถโดยสาร และอาคารบ้านเรือนที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งโดยตรงจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสในฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย ที่ฟุ้งกระจายใน อากาศจากการไอ จามรดกัน เข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุจมูกและปาก หรือติดต่อทางอ้อมโดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับ มือ ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ฯลฯ ที่ปนเปื้อน น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยแล้วสัมผัสถูกตาหรือจมูก ไข้หวัดใหญ่ สามารถแพร่เชื้อจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งได้มากช่วง 3 – 7 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ

อาการ – หลังจากได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 – 3 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูงเฉียบพลัน (โดยทั่วไปประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก ไอแห้ง ๆ คอแห้ง เจ็บคอ อาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หรือมีเสมหะมาก และตาแดง ตาแฉะตามมา โดยทั่วไปผู้ป่วย เด็กมักมีไข้สูงกว่าผู้ใหญ่ อาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียนและอุจาระร่วงได้ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ส่วนมากมีอาการ รุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดาโดยทั่วไป มักมีอาการดีขึ้นภายใน 5 วันหลังป่วย และหายเป็นปกติ ภายใน 7 – 10 วัน

โรคแทรกซ้อน – ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ อาจเกิด ภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ ได้มากกว่าคนอื่น ๆ และอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การรักษา – ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น การให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ทันทีหลังจากที่มีอาการช่วยลดความรุนแรงและอัตราตายในผู้ป่วย ยาต้านไวรัส ไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) และซานามิเวียร์ (Zanamivir) การพิจารณาเลือกใช้ตัวไหน ขึ้นอยู่กับข้อมูลความไวของยาต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในแต่ละประเทศ

ข้อบ่งชี้ของการใช้ยาต้านไวรัส

  1. ผู้ป่วยที่ยืนยันหรือสงสัยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
  2. ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงที่ยืนยันหรือสงสัยไข้หวัดใหญ่
  3. อาจพิจารณาให้ยาในผู้ป่วยที่ยืนยันหรือสงสัยไข้หวัดใหญ่ที่อาการไม่รุนแรง และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงป่วย รุนแรง ถ้าสามารถให้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ ยาโอเซลทามิเวียร์สามารถพิจารณาใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีได้ถ้ามีข้อบ่งชี้ นอกจากนี้เชื้อไวรัสอาจมี การดื้อยาได้ตลอดเวลา ดังนั้นในแต่ละแห่งควรมีข้อมูลความไวของยาและการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านไวรัส

การป้องกันโรค

  1. รักษาร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้ดี โดยการออกกำลังกาย สม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงความเครียด บุหรี่ สุราและยาเสพติด และระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศหนาวเย็น หรืออากาศเปลี่ยนแปลง
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินเพียงพอ
  3. ระมัดระวังการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และช่วงอากาศเย็น ซึ่งมักมีการ แพร่กระจายโรคได้มากขึ้น โดย
    • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดมาก และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
    • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
    • ไม่ใช้แก้วน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะสิ่งของผู้ป่วย
    • หมั่นล้างมือบ่อยๆ ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ แต่ช่วยป้องกันการแพร่และการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี
  4. ปัจจุบันยังไม่แนะนำการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประชาชนทั่วไป แต่ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคปอด โรคหัวใจเรื้อรังที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ หรือจะไปอยู่ในประเทศเขตหนาวเป็นเวลานาน อาจปรึกษาแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้า
  5. ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ควรระมัดระวังไม่แพร่เชื้อโดยระวังการไอหรือจามรดผู้อื่น และใช้ผ้าปิดปากทุก ครั้งเมื่อไอหรือจาม หรือหากทำได้ควรสวมหน้ากากอนามัยและไม่คลุกคลีกับผู้อื่น

กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับการฉีดวัคซีน

  1. บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย
  2. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่กำลังให้เคมี บำบัด เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ)
  3. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  4. หญิงมีครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  5. ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป
  6. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
  7. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี

คำแนะนำ ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

สถานศึกษาเป็นแหล่งชุมชนกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นแหล่งของการแพร่กระจายเชื้อโรค ไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นสำนักอนามัยขอให้คำแนะนำมาตรการป้องกันควบคุมโรคของโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษา ดังนี้

  1. ควรจัดให้มีระบบการคัดกรองเด็กป่วย วิธีการที่ใช้ในการคัดกรองเด็กขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละวัย ลักษณะของโรงเรียน และการจัดกิจกรรมในช่วงเช้าของโรงเรียน โดยการคัดกรองจะพิจารณาทั้งอาการไข้ ไอมีน้ำมูก หากพบว่าเด็ก มีอาการเข้าได้กับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ให้โรงเรียนทำการคัดแยกเด็ก ใส่หน้ากากอนามัยให้กับเด็ก ให้นักเรียนที่ป่วยพักในสถานที่จัดเตรียมไว้ และติดต่อให้ผู้ปกครองมารับกลับไปพักฟื้นที่บ้าน อนึ่ง โรงเรียนควรให้ คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านกับเด็กนักเรียน และผู้ปกครองด้วย
  2. หากพบว่ามีนักเรียน หรือนิสิต นักศึกษาป่วย ควรพิจารณาปิด/เปิดสถานศึกษาเพื่อการชะลอการระบาด ของโรคและการแพร่กระจายเชื้อ โดยใช้ดุลยพินิจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ผู้บริหารสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษารวมทั้งเครือข่ายผู้ปกครอง ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มี ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น หยุดเรียนและพักผ่อนที่บ้านหรือหอพัก (หากเป็นไปได้ ควรให้ผู้ป่วยนอนแยกห้อง)
  3. โรงเรียนควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียน ให้ผู้ปกครองและนักเรียนเข้าใจความจำเป็น ที่จะต้องให้นักเรียนที่ป่วยหยุดเรียน

วิธีการจัดการภายในโรงเรียน

  1. โรงเรียนควรจัดเตรียมจุดล้างมือให้พร้อม (น้ำพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์) โดยเฉพาะ ในห้องน้ำและโรงอาหาร พร้อมทั้งอธิบายวิธีการล้างมือให้แก่นักเรียน และกระตุ้นให้นักเรียนล้างมือฟอกสบู่เหลว เป็นประจำหลังสัมผัสวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
  2. ให้มีการเรียนการสอนบริเวณที่เปิดกว้าง ลมธรรมชาติสามารถผ่านได้สะดวก ไม่แนะนำให้อยู่ ในห้องปรับอากาศ
  3. มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัส เช่น ราวบันได เครื่องเล่นคอมพิวเตอร์ จุดตู้น้ำดื่ม เป็นประจำ และให้ทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปถี่ขึ้น ในช่วง ก่อนเข้าเรียน พักกลางวัน และช่วงเลิกเรียน
  4. มีการจัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ ณ ห้องพยาบาล เพื่อให้สามารถหยิบใส่ให้กับนักเรียน ที่มีอาการไข้ ไอ จาม ได้สะดวก และมีการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนที่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก ให้ใส่หน้ากากอนามัย และแจ้งกับครูเพื่อให้ครูติดต่อให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน
  5. โรงเรียนควรจัดทำคำแนะนำและโปสเตอร์ เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองได้เห็นและเข้าใจ เจตนารมณ์ และนโยบายของสถานศึกษาในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไข้หวัดใหญ่
  6. โรงเรียนควรส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างจริงจังและสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
  7. ให้นักเรียนพกแก้วน้ำและช้อนรับประทานอาหารเป็นของตนเอง หากต้องรับประทานอาหาร ร่วมกันให้ใช้ช้อนกลาง สำหรับจุดบริการน้ำดื่มสาธารณะ ควรใช้แก้วน้ำชนิดที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
  8. หากโรงเรียนมีรถโรงเรียน ควรจัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ในรถ เพื่อให้นักเรียนที่มีอาการไอ จาม หรือเป็นหวัด สวมใส่เวลานั่งในรถโรงเรียน และควรมีการทำความสะอาดภายในรถโรงเรียนเป็นประจำ มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเป็นประจำสม่ำเสมอในเรื่องการดูแลและการป้องกันตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง และแนะนำให้นักเรียนล้างมือก่อนกลับบ้าน
  9. ประสานกับหัวหน้ากลุ่มงานในพื้นที่ในสังกัดองค์กรที่มีสถานศึกษา ในการเฝ้าระวังการ ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับสถานศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพ เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนกลาง
  10. จัดให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรมสัมมนาการศึกษาและสร้างวิทยากร เพื่อให้ ความรู้แก่บุคลากรและนักเรียน นิสิตนักศึกษาในสถานศึกษา เปิดศูนย์ข้อมูลข่าวสารและให้ความรู้ในการเฝ้าระวัง การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่

วิธีการกำจัดหน้ากากอนามัยใช้แล้ว

  1. คำแนะนำในการกำจัดหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปาก ปิดจมูกส้าหรับ นักเรียน ประชาชน หรือบุคคลทั่วไป (เฉพาะรายบุคคล) การกำจัดหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชู ปิดปาก ปิดจมูกที่ใช้แล้ว ควรกำจัดโดยการนำหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชู ปิดปาก ปิดจมูกที่ใช้แล้ว ใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่นแล้วทิ้งในถังขยะทั่วไป
  2. คำแนะนำในการกำจัดหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากปิดจมูกสำหรับ สถานที่สาธารณะ หรือสถานที่ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากควรมีการแยกถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยหรือผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากปิดจมูก โดยเฉพาะโดยลักษณะของถังขยะควรมีถุงพลาสติกรองรับด้านในอีก 1 ชั้น และมีสติ๊กเกอร์ หรือข้อความระบุเป็น “ถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย หรือผ้าปิดปาก ปิดจมูกที่ใช้แล้ว” ติดไว้ที่ถังขยะให้ชัดเจน
  3. มาตรการในการกำจัดหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชู ปิดปากปิดจมูกสำหรับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีหน้ากากอนามัยหรือผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากปิดจมูกที่ใช้แล้วจากโรงพยาบาล ให้ใช้วิธีกำจัดเช่นเดียวการกำจัดขยะติดเชื้อของโรงพยาบาล โดยใช้ถุงพลาสติกสีแดงที่กันรั่ว ต้องติดเครื่องหมาย สัญลักษณ์ชีวสากลพร้อมทั้งติดฉลากให้รู้ว่าเป็นขยะติดเชื้อ ต้องเก็บรวบรวมไว้ในพื้นที่เฉพาะกำจัดในเตาเผา เป็นต้น กรณีหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากปิดจมูกที่ใช้แล้วจากสถานศึกษา/ชุมชนให้มีการ แยกขยะโดยแยกใส่ถุงพลาสติกหรือแยกถังขยะมีป้ายหรือข้อความบอกชัดเจนว่าเป็นถัง/ถุงขยะหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชู ปิดปากปิดจมูกที่ใช้แล้วมัดปากถุงให้แน่นแยกเก็บรวบรวมไว้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนกับขยะอื่น

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ผู้ปกครอง และผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก เจ็บคอ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อาการจะทุเลาลง ตามลำดับ คือ ไข้ลดลง ไอน้อยลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น และหายป่วยภายใน 5 – 7 วัน ยกเว้น บางรายอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทำให้เกิดปอดบวม มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก และเสียชีวิตได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง (เช่น ไข้ไม่สูงมาก ตัวไม่ร้อนจัด ไม่ซึม และพอรับประทานอาหารได้) สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ผู้ป่วยผู้ปกครอง และผู้ดูแลผู้ป่วย ควรปฏิบัติ ดังนี้

  • ผู้ป่วยควรหยุดเรียน และพักอยู่กับบ้านหรือหอพัก เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วันหลังวันเริ่มป่วย เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ และกลับเข้าเรียนได้เมื่อหายป่วยแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  • แจ้งทางโรงเรียนทราบเพื่อจะได้ร่วมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษา และป้องกันควบคุมโรค ได้อย่างทันท่วงที
  • ให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ตามคำแนะนำ ของเภสัชกรหรือสถานบริการทางการแพทย์ หรือคำสั่งของแพทย์
  • ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรับประทานทานยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง
  • เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดา (ไม่ควรใช้น้ำเย็น)
  • งดดื่มน้ำเย็นจัด
  • ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มากๆ
  • พยายามรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ให้เพียงพอ
  • นอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก
  • ป้องกันการแพร่ กระจายเชื้อให้ผู้อื่นด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือ จาม ด้วยกระดาษทิชชู หรือแขนเสื้อของตนเอง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ หลีกเลี่ยง การคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ร่วมบ้านหรือร่วมห้อง (หากเป็นไปได้ ควรให้ผู้ป่วยนอนแยกห้อง) รับประทานอาหาร แยกจากผู้อื่น หรือใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำหลอดดูดน้ำร่วมกับผู้อื่น

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานที่ยังไม่ป่วย

  • ควรติดตามสถานการณ์ การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และคำแนะนำต่างๆ จากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถานศึกษา เป็นระยะ
  • แนะนำพฤติกรรมอนามัยให้แก่บุตรหลาน เช่น รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโดยการล้างมือด้วยน้ำ และสบู่บ่อยๆ การใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน การรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่
  • แนะนำให้เด็กหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • หากบุตรหลานของท่านมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อย ตามร่างกาย ให้ใช้กระดาษทิชชู ปิดปากและจมูก และทิ้งลงถังขยะ และขอให้แจ้งทางโรงเรียนทราบ เพื่อจะได้ร่วม เฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษาและป้องกันควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที
  • ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้เป็นปกติเท่าที่จะเป็นไปได้ถึงแม้ว่าจะมีการปิดสถานศึกษา หรือมีการระบาดของโรค
  • หมั่นพูดคุยกับบุตรหลานให้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ และตอบคำถามที่เด็กสงสัยเท่าที่เด็ก ในแต่ละวัยจะเข้าใจได้
  • หากเด็กมีความรู้สึกกลัวหรือกังวล ควรแนะนำให้ระบายความรู้สึกของตนเองออกมา และตอบคำถาม รวมทั้งปลอบโยนให้คลายกังวล
  • เด็กมักจะต้องการความรู้สึกปลอดภัยและความรัก หากบุตรหลานของท่านมีความกังวล ท่านควรให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ
  • ดูแลมิให้บุตรหลานของท่านหมกมุ่นกับข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่มากเกินไป จนเกิดความกลัวหรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

ทุกปัญหาด้านสุขภาพเราช่วยคุณได้...กรุณาอย่าลังเลที่จะปรึกษาทีมผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของเรา